ประวัติสนาม
สแตมฟอร์ด บริดจ์ ถือเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และถูกใช้เป็นรังเหย้าของสโมสรฟุตบอลเชลซีมาตั้งแต่ปี 1905
สแตมฟอร์ด บริดจ์ เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 1877 ช่วง 27 ปีแรกสนามแห่งนี้ถูกใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาดั้งเดิมในสมัยยุควิคตอเรียโดยเฉพาะ
ในปี 1904 สิทธิการครอบครองของสนามเปลี่ยนมือเมื่อ มิสเตอร์ เฮนรี่ ออสกัสตัน (กัส) เมียร์ส และ มิสเตอร์ เจ ที เมียร์ส น้องชายของเขา ได้เข้าซื้อโดยก่อนหน้านี้พวกเขากว้านซื้อที่ดินเพิ่มเติม (ส่วนใหญ่เป็นสวนในตลาด) โดยมีเป้าหมายที่จะใช้จัดการแข่งขันกีฬายุคใหม่ที่พวกเขาตกหลุมรัก นั่นก็คือฟุตบอล ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมจากภาคเหนือของอังกฤษสู่ย่านมิดแลนด์ส และเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองหลวงของประเทศ
สนามแห่งใหม่มีเนื้อที่ 12.5 เอเคอร์ ถูกออกแบบโดย อาร์ชิบาลด์ ลีตช์ นักออกแบบสนามฟุตบอลชื่อดังชาวสก็อตแลนด์ โดยมีสัญลักษณ์โดดเด่นจากงานของเขาอยู่ในอัฒจันทร์ความยาว 120 หลาทางฝั่งตะวันออก ซึ่งจุแฟนบอลได้ 5,000 คน
อัฒจันทร์อีกฝั่งเป็นพื้นที่เปิดกว้างโดยมีวัสดุเป็นพัน ๆ ชิ้นที่ถูกขุดมาจากการสร้างรถไฟใต้ดินสาย Piccadilly เพื่อนำมาใช้รองรับน้ำหนักของระเบียงสำหรับแฟนบอลที่ซื้อตั๋วเข้ามายืนดูการแข่งขัน
แรกเริ่มความจุถูกวางแผนไว้ใช้รองรับแฟนบอล 100,000 คน และเคยเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอันดับที่ 2 ต่อจากสนามของคริสตัล พาเลซทางลอนดอนใต้ ซึ่ง ณ เวลานั้นถูกใช้เป็นสังเวียนแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ
ฟูแล่ม เคยถูกเสนอให้ใช้สนามนี้เป็นรังเหย้าแต่พวกเขาปฏิเสธโอกาสดังกล่าว นั่นจึงทำให้สโมสรใหม่ที่มีชื่อว่า เชลซี ฟุตบอล คลับ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 1905 ได้ย้ายมาอยู่ในสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์สำหรับช่วงเริ่มต้นฤดูกาลไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
ความสำเร็จเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว โดยสนามได้รองรับแฟนบอลถึง 60,000 คนในปีแรก, การเลื่อนชั้นจากลีก วัน หลังได้เลื่อนขึ้นมาเล่นในลีก ทู นอกจากนี้ยังถูกใช้จัดการแข่งขันเอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ 3 ครั้งระหว่างปี 1920 จนถึง 1922
ทำไมถึงชื่อ สแตมฟอร์ด บริดจ์?
ชื่อสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ถือว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ โดยเคยเป็นสนามรบที่ประสบความสำเร็จในยอร์คเชียร์ซึ่งรับมือกับการรุกรานของชาวไวกิ้งเมื่อปี 1066 โดยเกิดขึ้นทันทีหลังความพ่ายแพ้ต่อชาวนอร์มันส์ในศึกที่เฮสติงส์
อย่างไรก็ตาม การใช้ชื่อสนามของสโมสรฟุตบอลเชลซีถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่สำคัญจากท้องถิ่น มิใช่การรุกรานของชาวต่างชาติแต่อย่างใด
ในยุคศตวรรษที่ 18 แผนที่ของพื้นที่ถนนฟูแล่ม และถนนคิงส์ มีลำธารชื่อว่า 'สแตนฟอร์ด ครีก' ซึ่งมีความยาวเลียบไปกับทางรถไฟสายปัจจุบันด้านหลังอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออก ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเธมส์
จุดที่ลำธารตัดผ่านกับถนนฟูแล่ม ถูกเรียกว่า 'ลิตเติล เชลซี บริดจ์' ซึ่งเดิมทีถูกเรียกว่าแซนฟอร์ด บริดจ์ (มาจาก แซนด์ ฟอร์ด) ขณะที่สะพานข้ามลำธารบนถนนคิงส์ถูกเรียกว่า สแตนบริดจ์ (มาจาก สโตน บริดจ์) สะพานสองชื่อนี้และชื่อของลำธาร 'สแตนฟอร์ด ครีก' ถูกนำมารวมกันกลายเป็นชื่อว่า สแตนฟอร์ด บริดจ์ ซึ่งหลังจากนั้นถูกเปลี่ยนอีกครั้งกลายเป็น สแตมฟอร์ด บริดจ์ จนถูกนำมาใช้เป็นชื่อของสนามฟุตบอลในบริเวณใกล้เคียง
สะพานข้ามทางรถไฟเหนือถนนฟูแล่มยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้ ใกล้เคียงกับ สแตมฟอร์ด เกต ซึ่งเป็นประตูทางเข้าสนามหลัก
หลังจากการก่อสร้าง สนามยังคงมีรูปลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 1930 เมื่อระเบียงฝั่งใต้ถูกคลุมไว้บางส่วน - โครงสร้างชวนสงสัยนำไปสู่ชื่อเล่นว่า 'เชด เอนด์'
ชื่อที่มีความโด่งดังในวงการฟุตบอลนี้ มาจากการสร้างหลังคาเพื่อกีฬาชนิดอื่น โดยเป็นหลังคาที่ปกคลุมระเบียงทั้ง 5 ชั้นในพื้นที่และได้รับการออกแบบโดย อาร์ชิบาลด์ ลีตช์ สถาปนิกผู้ออกแบบสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ การก่อสร้างครั้งนี้ได้รับเงินทุนจากสหพันธ์การวิ่งแข่งสุนัขเกรย์ฮาวด์ ซึ่งเป็นเวลาหลายทศวรรษที่การแข่งขันวิ่งสุนัขจัดขึ้นที่นี่ พวกเขาต้องการปิดบังบริเวณการรับแทงพนันกับบรรดานักพนัน
ผ่านไปประมาณ 30 ปีหลังสิ่งก่อสร้างนี้ปรากฎขึ้น มีจดหมายที่ถูกตีพิมพ์ลงสู่หนังสือแมตช์เดย์ของเชลซีจาก คลิฟฟ์ เว็บบ์ แฟนบอลสโมสรที่ขอให้เรียกฝั่งถนนฟูแล่มว่า 'เดอะ เชด' โดยเขาได้ขอให้แฟนบอลเข้าไปรวมตัวกันเพื่อช่วยให้กำลังใจนักเตะ แข่งขันกับสนามเหย้าของทีมอื่น ๆ การเรียกร้องของเขาถือว่าได้ผล โดยอัฒจันทร์ฝั่งใต้ที่เปิดใช้งานแทนระเบียงเก่าในปี 1997 ยังคงมีชื่อว่า 'เชด' จนถึงทุกวันนี้
ในปี 1939 อัฒจันทร์ฝั่งเหนือในสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ได้รับการต่อเติมเช่นกัน มีการผลักดันความจำเป็นในเรื่องที่นั่งซึ่งมีหลังคาปกคลุมเพิ่มเติมต่อจากอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออก จึงได้มีการก่อสร้างขึ้นใหม่เริ่มในปี 1939 โดยเป็นอีกครั้งที่ อาร์ชิบาลด์ ลีตช์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการออกแบบ
การต่อเชื่อมกับฝั่งอัฒจันทร์ตะวันออกต้องหยุดไปชั่วคราวเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในที่สุดก็ได้เปิดใช้งานในปี 1945 แฟนบอลสามารถเลือกนั่งในชั้นที่มีการต่อเสาค้ำไปยังหัวมุมอัฒจันทร์บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของระเบียงยืนที่มีอยู่ดั้งเดิม
บางคนอ้างว่าอัฒจันทร์ส่วนนี้เกิดการสั่นเมื่อมีรถไฟบริเวณใกล้เคียงวิ่งผ่าน แต่ก็อยู่รอดเป็นเวลา 30 ปี จนโดนรื้อออกเพื่อการเปิดอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออกขนาดใหญ่ครั้งใหม่ ระเบียงยืนทางทิศเหนือยังคงถูกใช้งานจนถึงปี 1993 เมื่อมีการเริ่มต้นการสร้างอัฒจันทร์แบบที่นั่งทั้งหมดเข้าสู่สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์
ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษซึ่งเกิดขึ้นในหนึ่งในยุคสมัยที่เชลซีประสบความสำเร็จมากที่สุด สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ มีอัฒจันทร์ใหม่ใช้งานทั้งสองส่วนในสนาม
ระหว่างปี 1965 ข้อตกลงในการวางแผนและการสร้างอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกได้เริ่มต้นขึ้น จนสุดท้ายได้เป็นอัฒจันทร์ซึ่งมีที่นั่งรองรับแฟนบอลประมาณ 6,000 คนแทนระเบียงยืนแบบเก่าที่ถูกใช้งานมาก่อนหน้านี้
ในบริเวณด้านหลังของอัฒจันทร์ประกอบด้วยห้องรับรอง 6 ห้อง ทำให้ เดอะ บริดจ์ กลายเป็นสนามแห่งที่สองในประเทศต่อจากโอลด์ แทรฟฟอร์ดที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว จากนั้นได้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างในปี 1957
จากความสำเร็จของอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก, ผลงานของทีม และอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออกดั้งเดิมที่คงอยู่มา 60 ปีซึ่งใกล้จะหมดสภาพ ผู้บริหารของสโมสรเชลซีมีความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ขึ้นมาใหม่ โดยแผนการคือขยายความจุเป็น 60,000 ที่นั่ง พร้อมหลังคาครอบคลุมทั้งหมด แต่ไอเดียก็มาได้ไกลเพียงเท่านี้
โปรเจ็คต์งานใหม่เกิดขึ้นผิดเวลา เช่นเดียวกับภาระจากการตัดสินใจที่ย่ำแย่ รวมถึงการแต่งตั้งสถาปนิกที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบสนามฟุตบอล ผลกระทบของจำนวนผู้ชมที่ลดลงก็มิได้ถูกนำมาพิจารณา สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของสหราชอาณาจักรในปี 1970 ทำให้เกิดการประท้วงหยุดงานหลายครั้งจนทำให้งานก่อสร้างต้องล่าช้า สนามใหม่เสร็จไม่ทันกำหนดรวมทั้งใช้งบประมาณเกินจำนวนเงินที่ตั้งเอา เมื่อบวกกับผลงานที่ตกต่ำลงไป สิ่งดังกล่าวทำให้สโมสรแทบจะล้มทั้งยืน นำไปสู่การขายนักเตะชื่อดัง, การตกชั้น และการเผชิญหน้ากับภาวะล้มละลายอย่างฉิวเฉียด
เมื่อเปิดใช้งานในปี 1974 รูปแบบของอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออกไม่ใช่สิ่งที่โดนใจแฟนบอลทุกคน อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวได้ทำให้แฟนบอลในสนามได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยมีพื้นครอบคลุมสนามแข่งวิ่งสุนัขเก่า ส่วนวิวจากพื้นที่ส่วนกลางและอัฒจันทร์ชั้นบนของบรรดาแฟนพันธุ์แท้ก็ถือว่าเยี่ยมยอด เมื่อเวลาผ่านไป การฟื้นฟูทั้งในและนอกสนามเกิดขึ้น ส่วนอัฒจันทร์ก็ผสมรวมเข้ากับการสร้างสนามใหม่ได้เป็นอย่างดี จนคงอยู่มาจนกลายเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน
กับการที่สโมสรฟุตบอลเชลซีใกล้จะล้มละลายและติดอยู่ในดิวิชั่นสองในยุคต้นปี 1980 เคน เบตส์ นักธุรกิจได้เข้ามาซื้อถือเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของ เมียร์ส อย่างไรก็แล้วแต่ ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสิทธิการครอบครอง ตัวสนามได้มีเจ้าของใหม่เป็นบริษัทที่แยกออกมา และทางอดีตผู้อำนวยการสโมสรตัดสินใจขายหุ้นให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว
เชลซี มีสิทธิ์ในการใช้เดอะ บริดจ์เป็นรังเหย้าต่อไป แต่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้เพื่อใช้สนามในระยะยาว มีการวางแผนว่าจะเปลี่ยนสนามเป็นที่พักอาศัยหรือซูเปอร์มาร์เกต โดยความคิดที่ทีมต้องใช้รังเหย้าเดียวกับฟูแล่มหรือคิวพีอาร์ทำให้แฟนบอลรู้สึกหวาดหวั่น
สงครามการต่อสู้ที่เหน็ดเหนื่อยและมีราคาค่าใช้จ่ายดำเนินต่อไป 10 ปี ทำให้แผนการพัฒนาสนามต้องหยุดชะงัก และทำให้เกิดแคมเปญ 'เซฟ เดอะ บริดจ์' เพื่อเรี่ยไรเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมาย
การล่มสลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นสิ่งที่ส่งผลในแง่ดีกับพวกเรา โดยบริษัทนักพัฒนากลับเป็นฝ่ายที่ต้องล้มละลายเสียเอง และในปี 1992 สโมสรฟุตบอลเชลซีก็ได้สนามกลับคืนมา
ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าหวั่นใจแต่สแตมฟอร์ด บริดจ์รอดมาได้ และในปี 1993 กระบวนการพัฒนาสนามให้เป็นหนึ่งในสเตเดี้ยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศได้เริ่มต้นขึ้น โดย เบตส์ ยังได้ริเริ่มแผน Chelsea Pitch Owners เพื่อปกป้องสโมสรจากภัยอันตรายที่เพิ่งผ่านพ้นไป ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
การสร้างสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นสังเวียนแบบในปัจจุบันรุดหน้าไปกับการพลิกโฉมพื้นที่อัฒจันทร์ทางทิศเหนือ สนามซึ่งมีเก้าอี้ทุกที่นั่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแข่งขันในดิวิชั่นระดับบนของฟุตบอลอังกฤษ ส่วนระเบียงยืนดูสำหรับแฟนบอลทีมเยือนได้ถูกทำลายทิ้ง
อัฒจันทร์สองชั้นสำหรับรองรับแฟนบอลเจ้าถิ่นเปิดใช้งานในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 1994 โดยสองปีถัดมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น แม็ทธิว ฮาร์ดิ้ง สแตนด์ เพื่อรำลึกถึงรองประธานสโมสรเชลซีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางเฮลิคอปเตอร์ เงินทุนการกู้ยืมของเขาถือว่าช่วยเหลือได้อย่างมากสำหรับการสร้างอาคาร การเชื่อมต่ออัฒจันทร์เข้ากับฝั่งตะวันตกถูกใส่เสริมขึ้นมาโดยตัวสแตนด์ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับแฟนบอลเชลซีที่ส่งเสียงกู่ก้องเชียร์ทีมรักจนถึงปัจจุบัน
แผนการพลิกโฉมสนามลำดับถัดมาคืออัฒจันทร์ฝั่ง เชด เอนด์ ระเบียงเก่าถูกใช้งานครั้งสุดท้ายในวันสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลลีก ฤดูกาล 1993/94 จากนั้นที่นั่งชั่วคราวถูกนำมาติดตั้งทดแทนอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนการเริ่มติดตั้งอัฒจันทร์เชด เอนด์จะเกิดขึ้น ในเวลาเดียวกันนี้ โรงแรมสี่ดาว, แฟลทที่อยู่อาศัย และอาคารจอดรถชั้นใต้ดินกำลังถูกก่อสร้างขึ้น
งานชิ้นสุดท้ายสำหรับเรื่องราวของสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์โฉมใหม่กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเอาชนะ อัฒจันทร์ชั้นล่างของสแตนด์ฝั่งทิศตะวันตกดำเนินไปตามปฏิทินที่กำหนดไว้ แต่จากนั้นปัญหากับสภาเมืองท้องถิ่นเรื่องแผนการขออนุญาตทำให้เกิดความล่าช้า 2 ปีก่อนการก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้น
ท้ายที่สุดสงครามดังกล่าวได้จบลง และการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดของสนามก็ได้เริ่มต้นขึ้น อัฒจันทร์ 13,500 ที่นั่งพร้อมห้องรับรองมากมาย, ห้องโถงที่ใช้งานได้หลากหลาย และห้องสวีตสำหรับการใช้งานตลอดทั้งปี การก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2001/02 ทำให้สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ที่ปรับโฉมมาตั้งแต่ปี 1973 จากอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออกเสร็จสมบูรณ์ในที่สุด
ความจุของสนามปัจจุบันรองรับแฟนบอลประมาณ 41,000 คน โดยรูปทรงเปลี่ยนจากรูปไข่ขนาดใหญ่กลายเป็นสี่ด้านที่ใกล้ชิดกับผืนหญ้า แทบไม่มีพื้นที่ส่วนใดของสนามปัจจุบันที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีหลัง โดยมีเพียงแค่กำแพงของฝั่งอัฒจันทร์เชดที่ยังคงอยู่จากสนามดั้งเดิม สิ่งนี้สามารถสังเกตเห็นได้จากพื้นที่ภายนอกสนามปัจจุบันฝั่งตรงข้ามกับเมกะสโตร์และจุดจำหน่ายตั๋ว
นอกจากการปรับปรุงตัวสนามแข่งขัน พื้นที่ขนาด 12.5 เอเคอร์ในบริเวณนี้ยังเป็นการทำงานเกี่ยวกับตัวอาคาร ประกอบด้วยโรงแรม 4 ดาว 2 แห่ง, ภัตตาคาร, สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่รองรับการจัดงาน, ลานจอดรถชั้นใต้ดิน, คลับสุขภาพ, พื้นที่จัดงานดนตรี และศูนย์ธุรกิจถูกเสริมเข้าไปทั้งหมด
สแตมฟอร์ด บริดจ์ เดินทางมาไกลจากสังเวียนแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ ตอนที่เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1877 ท่านสามารถรับชมวิดีโอด้านล่างสำหรับรายละเอียดของสโมสรฟุตบอลเชลซีได้เพิ่มเติม