นับตั้งแต่ พรีเมียร์ลีก ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1992 เวลานั้น สโมสรเชลซี ถือเป็นทีมที่อยู่ในระดับ "โอเค"
ในยุคแรก ระหว่างปี 1992 ถึงปี 1996 เชลซี อยู่ครึ่งล่างของตาราง แต่พอเข้าสู่ยุคของกุนซือต่างชาติ ในปี 1996 เป็นต้นมา (รุด กุลลิท, จานลูก้า วิอัลลี่ และ เคลาดิโอ รานิเอรี่) เชลซีก็ยกระดับทีมขึ้นอย่างชัดเจน กลายเป็นทีมครึ่งบนของตารางคะแนน เกาะกลุ่มท็อปโฟร์ได้แบบสวย ๆ บางซีซั่น ก็จบด้วยแชมป์บอลถ้วยได้อีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เชลซี ได้แค่เฉียด แต่ยังไปไม่ถึงแชมป์พรีเมียร์ลีกเสียที ส่วนแชมป์ลีกสูงสุดครั้งสุดท้าย ต้องย้อนไปเมื่อราว 50 ปีก่อน ในซีซั่น 1954-55 ซึ่งแฟนบอลเชลซีหลายคนยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ
ฤดูกาล 2003-04 เคลาดิโอ รานิเอรี่ พาเชลซี จบอันดับ 2 ของตารางคะแนน จากนั้นในช่วงซัมเมอร์เขาได้แยกทางกับสโมสร โดยรานิเอรี่ ย้ายไปคุมบาเลนเซียในสเปน ขณะที่ทีมสิงห์บลูส์ ก็ได้ผู้จัดการทีมคนใหม่ ซึ่งเป็นตัวท็อปของวงการ นั่นคือ โชเซ่ มูรินโญ่
มูรินโญ่ ตอนนั้นเพิ่งคว้าแชมป์ยุโรปกับเอฟซี ปอร์โต้ และย้ายมาเชลซีด้วยความมั่นใจมาก ๆ ในฐานะผู้จัดการทีมวัยหนุ่มที่มีผลงานระดับมาสเตอร์พีซ โดยวันที่มูรินโญ่เซ็นสัญญากับเชลซี เขามีอายุแค่ 41 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้มูรินโญ่จะมีดีกรี แต่สื่อในอังกฤษ ณ เวลานั้น มองว่าเชลซียังเป็นม้านอกสายตาอยู่ โดยตัวเต็งแชมป์ในซีซั่น 2004-05 คืออาร์เซน่อล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ในซีซั่นที่ผ่านมา (2003-04) อาร์เซน่อลคว้าแชมป์ลีกแบบไร้พ่าย พวกเขายังมีทีมที่แข็งแกร่งมาก ๆ ขณะที่แมนฯยูไนเต็ด ก็ยังมีเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทีมอยู่ และเด็กอัจฉริยะอย่างคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก็เริ่มเก่งขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
ดังนั้นแม้มูรินโญ่จะมีดีกรีแชมป์ยุโรป แต่กับเวทีพรีเมียร์ลีก เชลซียังโดนมองว่าเป็น "ตัวสอดแทรก" ไม่ใช่ตัวเต็งในการลุ้นแชมป์แบบจริงจัง
แต่แน่นอน คงไม่ผิดอะไรถ้าเราจะสปอยล์ผลลัพธ์ตอนจบ เพราะทุกคนรู้แล้วว่า เชลซีทีมนี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ และเป็นการคว้าแชมป์แบบ "หมดจด" อย่างยิ่ง
ตอนจบฤดูกาล 38 นัด เชลซีของมูรินโญ่ ทำแต้มทิ้งห่างอันดับ 2 อาร์เซน่อล 12 แต้ม และทิ้งห่างอันดับ 3 แมนฯยูไนเต็ด 18 แต้ม
คำถามคือ มูรินโญ่ทำได้อย่างไร ในการเอาชนะทั้งอาร์แซน เวนเกอร์ และอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขาใช้แท็กติกแบบไหน ในการคว้าแชมป์ประวัติศาสตร์นี้
กลยุทธ์ของมูรินโญ่ที่เปลี่ยนแปลง และยกระดับเชลซีให้แกร่งขึ้น มี 3 ข้อด้วยกัน
ข้อแรกที่มูรินโญ่ต้องการเปลี่ยนแปลงก่อนเลย คือนักเตะจำเป็นต้อง “รู้จักคู่แข่ง”
ย้อนกลับไปในยุคของรานิเอรี่ รูปแบบการซ้อมของเชลซี ก็จะโฟกัสที่ทีมของตัวเองไป และเวลาลงแข่ง ก็จะเป็นการวัดกันไปเลยว่า ถ้าแลกหมัดกันตรง ๆ ทีมไหนจะมีความแข็งแกร่งกว่า
แต่มูรินโญ่นั้นจะให้ความสำคัญกับคู่แข่งที่กำลังจะเจอในเกมต่อไปเป็นอย่างมาก คือก่อนหน้านี้รานิเอรี่ก็มี Scout ฟอร์มคู่แข่งเช่นกัน แต่ไม่ได้ละเอียดทุกจุดแบบมูรินโญ่
"ผมอยู่ที่เรอัล มาดริด มา 3 ปี ที่นั่นเราไม่เคยอยากรู้ข้อมูลของคู่แข่งเลย ดังนั้นพอมาเจอการเจาะลึกขนาดนี้ ยอมรับว่าประหลาดใจเหมือนกัน" โคล้ด มาเกเลเล่ มิดฟิลด์ของเชลซียอมรับ
เชลซี เริ่มต้นใช้ "โปรโซน" ซึ่งเป็นบริษัทเก็บข้อมูลเชิงสถิติโดยจุดที่น่าสนใจคือ เชลซีไปโฟกัสที่สถิติและตัวเลขของคู่แข่ง แทนที่จะเน้นใช้กับทีมตัวเอง "เราได้ข้อมูลตัวเลขแบบนี้ของทีมอื่น ข้อดีคือทำให้เราได้รู้ว่า ควรเพ่งสมาธิไปที่จุดไหน" จอห์น เทอร์รี่ กัปตันทีมเชลซียอมรับ
ในยุคนั้น การที่ทีมใหญ่ระดับลุ้นแชมป์ ไปเจาะข้อมูลของคู่แข่งอย่างละเอียดถือว่าไม่ใช่เรื่องปกตินัก แต่มูรินโญ่ยืนยันว่ามีความสำคัญ โดยก่อนแข่งขันแต่ละนัด เขาจะส่งอันเดร วิลลาช-โบอาช สตาฟคู่ใจไปทำข้อมูลคู่แข่งมาให้ละเอียดที่สุด และก่อนถึงแมตช์เดย์ 2 วัน หลังจากซ้อมมื้อปกติเสร็จ นักเตะแต่ละคนเมื่อเข้ามาในห้องแต่งตัว จะพบกับเอกสารข้อมูลที่สตาฟเตรียมไว้ให้แล้ว
โดยนักเตะต้องเอาไปศึกษาว่าคู่แข่งที่กำลังจะเจอ เป็นทีมสไตล์ไหน ชอบเล่นเซ็ตพีซอย่างไร คีย์แมนแต่ละคนชอบวิ่งไปทางไหน นักเตะเชลซี ต้องศึกษาคู่ต่อสู้ทุกแง่มุม
"มูรินโญ่เป็นโค้ชที่ศึกษาคู่แข่งละเอียดมากที่สุด เท่าที่ผมเคยรู้จักมาในชีวิต" เทอร์รี่กล่าว
เมื่อนักเตะรู้ตัวว่าควรโฟกัสที่คู่แข่งแล้ว ขั้นตอนต่อมา สเต็ปที่ 2 มูรินโญ่ให้ความสำคัญกับเรื่อง "เกมรับ" เป็นอย่างมาก
จริง ๆ แล้ว ในยุครานิเอรี่ เกมรับเชลซีก็ถือว่าใช้ได้ เสียแค่ 30 ลูกในฤดูกาล 2003-04 น้อยสุดเป็นอันดับ 2 ของลีก ค่าเฉลี่ยเสียไม่ถึง 1 ลูกต่อเกมด้วยซ้ำ
แต่มูรินโญ่ ยังมองว่า เชลซีสามารถเหนียวแน่นได้มากกว่านี้อีก ยังเสียประตูได้น้อยกว่านี้ คือในขณะที่อาร์เซน่อล กับแมนฯ ยูไนเต็ด มีพลังเกมรุกที่จัดจ้านมาก ถ้าเชลซีอยากจะชนะ ไม่ใช่การเอาเกมบุกไปแลกกัน แต่ต้องใช้เกมรับที่เหนียวแน่นเน้นไม่ให้เสียประตูเอาไว้ก่อน
กองหลังแบ็กโฟร์ในยุคเดิมของรานิเอรี่ มูรินโญ่เก็บไว้เป็นตัวจริงแค่ไม่กี่คนเท่านั้น
เกมสุดท้ายของฤดูกาล 2003-04 รานิเอรี่ ใช้ผู้รักษาประตูคือคาร์โล คูดิชินี่ แบ็กขวาใช้มาริโอ เมลช็อต แบ็กซ้ายเป็นเกล็น จอห์นสัน ส่วนคู่เซ็นเตอร์แบ็ก คือจอห์น เทอร์รี่ กับ วิลเลียม กัลลาส
แผงกองหลังชุดนั้น เหลือที่ยึดตัวจริงได้ในยุคมูรินโญ่แค่ 2 คนเท่านั้น คือ เทอร์รี กับ กัลลาส โดยมูรินโญ่ เปลี่ยนนายทวาร โดยเขาเลือกใช้ ปีเตอร์ เช็ก ผู้รักษาประตูวัย 21 ปี ที่เพิ่งย้ายมาจากสโมสรแรนส์ในฝรั่งเศส ยืนเป็นตัวจริงทันที
มูรินโญ่ขยับกัลลาส เป็นแบ็กซ้าย ส่วนคนที่มายืนเซ็นเตอร์คู่กับเทอร์รี่ คือริคาร์โด้ คาร์วัลโญ่ กองหลังคู่บุญชาวโปรตุเกส ที่ย้ายมาจากปอร์โต้ ตามมูรินโญ่มาติด ๆ เช่นเดียวกับแบ็กขวา ที่มูรินโญ่ใช้เปาโล แฟร์เรร่า ที่มาจากปอร์โต้เช่นเดียวกัน
เท่ากับว่า คุณภาพของแนวรับเชลซีดีขึ้นชัดเจน ปีเตอร์ เช็ก คือนายทวารดาวรุ่งฝีมือดี กัลลาสก็มีดีกรีตัวจริงทีมชาติฝรั่งเศส เทอร์รี่มีความเป็นผู้นำสูงส่ง ส่วนแฟร์เรร่า กับ คาร์วัลโญ่ มีดีกรีแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ซีซั่นล่าสุดมาแบบสด ๆ ร้อน ๆ
กองหลังปึ้กขึ้นมาก ๆ ยิ่งไปกว่านั้น มูรินโญ่ยังออกสตาร์ตซีซั่นด้วยระบบ 4-4-2 แบบไดอามอนด์ มีมิดฟิลด์ตัวรับที่ไม่เติมเกมรุก อย่างโคล้ด มาเกเลเล่ ยืนต่ำสุด
ทีมอื่นไม่รู้จะหากลยุทธ์อะไรมาเจาะเชลซี ในเกมแรกของซีซั่น เชลซี เจอแมนฯยูไนเต็ด ที่มีทั้งไรอัน กิ๊กส์ ,พอล สโคลส์, อลัน สมิธ, รอย คีน และดีเอโก้ ฟอร์ลัน แต่สรุปเกมนั้น เชลซีชนะไป 1-0 ทีมปีศาจแดงที่ว่าเกมรุกดี ไม่สามารถเจาะได้เลย
ใน 10 เกมแรกของฤดูกาล เชลซีเสียประตูทั้งหมด 2 ลูก เก็บคลีนชีทได้ 8 นัด การเล่นเกมรับเหนียวแน่นคือทีเด็ดของมูรินโญ่ทีเดียว
ศึกษาคู่แข่งอย่างละเอียด และวางเกมรับเหนียวแน่น อาจจะทำให้คุณมีผลงานดีขึ้น แต่เชลซีของมูรินโญ่ยังขาดจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายไป นั่นคือ "เกมรุก"
ใน 9 เกมแรกของฤดูกาล เชลซียิงได้ 8 ลูก คือเกมรับดีก็ใช่ แต่ทีมก็มีจบเกมด้วยสกอร์ 0-0 อยู่เยอะเหมือนกัน คือใช่ อาจจะไม่เสียประตู แต่ก็ยิงคู่แข่งไม่ได้เช่นกัน
และเกมฟุตบอล ถ้าคุณเสมอ คุณก็ได้แค่ 1 แต้ม คือถ้าเสมอ 0-0 สองนัดได้แค่ 2 แต้มเอง ตรงข้ามกับทีมที่เล่นเกมรุก ใน 2 นัด ถ้าชนะ 1 แพ้ 1 ก็ได้แต้มมากกว่าแล้ว
ใน 9 เกมแรกของซีซั่น เชลซียิงได้ 8 ลูก ขณะที่อาร์เซน่อล ใน 9 เกมแรก ยิงไป 29 ประตู มันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบุกที่ต่างกันพอสมควร
นั่นทำให้ในเกมที่ 10 ของฤดูกาล มูรินโญ่จึงปล่อยกลยุทธ์เด็ด ซึ่งเป็นไม้ตายสุดท้ายลงไปในสนาม
กลยุทธ์นี้ มีชื่อว่า "อาร์เยน ร็อบเบน"
เชลซีซื้อร็อบเบน มาจากพีเอสวี ไอน์โฮเฟ่น ในฮอลแลนด์ ตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์แล้ว แต่นักเตะมีอาการบาดเจ็บมาหลายเดือน เพิ่งจะหายสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม หรือนัดที่ 10 ของซีซั่น และเมื่อหายปั๊บ ร็อบเบนก็มีชื่อในฐานะตัวสำรองทันที
หลังจากที่เชลซีดูฝืด ๆ มาตลอดใน 9 เกมแรก พอร็อบเบนลงสนามปั๊บ เชลซีถล่มแบล็คเบิร์น 4-0 ร็อบเบนลงสนามมาในช่วงครึ่งชั่วโมงท้าย แต่เล่นได้อย่างมหัศจรรย์มาก ๆ จนแนวรับคู่แข่งมึนไปหมด การเลี้ยงบอลของร็อบเบน ไม่มีใครต้านทานได้เลย
เมื่อเล่นดีมาก ในเกมเจอแบล็คเบิร์น ทำให้มูรินโญ่ให้โอกาสร็อบเบนอีกครั้ง แต่คราวนี้ได้เล่นมากขึ้น เขาได้ลงสนาม 45 นาที ในการเจอเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน นัดที่ 11 ของฤดูกาล
ครึ่งแรกเชลซีนำเวสต์บรอมฯ 1-0 แต่พอร็อบเบนลงปั๊บ เกมจบเชลซีถล่มกระจุย 4-1 เวลาเขาสปรินท์ตัวไม่มีใครตามทันเลย สปีดของร็อบเบนนั้นคือที่สุดจริง ๆ
นัดที่ 12 ของซีซั่น เชลซีเจอเอฟเวอร์ตัน ร็อบเบนวิ่งโซโล่เดี่ยวครึ่งสนามก่อนหลุดเดี่ยวไปยิงด้วยซ้ายข้างถนัดให้เชลซีชนะ 1-0 ตามด้วยเกมที่ 13 เชลซีเจอ ฟูแล่ม ก็เป็นร็อบเบนที่เล่นเด่นสุด ๆ ช่วยทีมชนะไป 4-1 โดยเกมนี้ ประตูที่เขายิงได้ ถือว่าสวยงามสุด ๆ เมื่อล็อกหลบกองหลังฟูแล่ม 4 ตัว กลิ้งระเนระนาด ก่อนซัดเข้าประตูไปแบบเหนือชั้น
ร็อบเบนคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำเดือนของพรีเมียร์ลีก ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยจากผลงาน คือถ้าหากเทียบกัน 9 เกมแรกที่ไม่มีร็อบเบน เชลซียิงได้ 8 ลูก แต่ 9 เกมต่อมาที่มีร็อบเบน เชลซียิงไป 30 ลูก
การเล่นอันมหัศจรรย์ของร็อบเบน ทำให้มูรินโญ่ ปรับแผนจากเดิมที่ใช้ 4-4-2 ไดอามอนด์ มาเล่น 4-3-3 แทน โดยมีปีกสองข้างคือร็อบเบน กับ แดเมียน ดัฟฟ์ ซึ่งมีความเร็วจัดจ้านไม่ต่างกันเลย
หลังจากร็อบเบน โชว์ฟอร์มฮอต ในที่สุดเชลซีก็แซงอาร์เซน่อลขึ้นเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ ในเดือนพฤศจิกายนนี่เอง
พอมูรินโญ่พาเชลซีนำเป็นจ่าฝูงแล้ว คราวนี้เขารันยาว แบบม้วนเดียวจบเลย เชลซีไม่เคยหล่นลงมาจากอันดับ 1 อีกเลยแม้แต่สัปดาห์เดียว
องค์ประกอบทุกอย่างลงตัวหมด เกมรับแข็งแกร่งเหมือนภูผาหิน ทั้งซีซั่นเสียไปแค่ 15 ประตูเท่านั้น ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ต่อให้ใครมีเกมรับดีแค่ไหน ก็ยังไม่เคยมีใครเสียประตูน้อยขนาดนี้
ถ้าเจาะลึกลงไปอีก ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ปี 2004 จนถึงเดือนมีนาคมปี 2005 เชลซีไม่เสียประตูแม้แต่ลูกเดียว เป็นเวลา 1025 นาที ซึ่งพอจบฤดูกาล ปีเตอร์ เช็กก็คว้ารางวัลถุงมือทองคำตามคาดกับการคลีนชีทไป 25 นัด ส่วนจอห์น เทอร์รี่ กัปตันทีม ได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของพีเอฟเอ ซึ่งในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก มีเซ็นเตอร์แบ็กแค่ 3 คนเท่านั้นที่ได้รางวัลนี้ คือ พอล แม็คกรัธ (แอสตัน วิลล่า 1992-93), เวอร์จิล ฟาน ไดค์ (ลิเวอร์พูล 2018-19) และอีกคนก็คือจอห์น เทอร์รี่นั่นเอง
ส่วนเกมรุกนั้น กองหน้าตัวเป้า พวกดิดิเยร์ ดร็อกบา และ ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซ่น อาจยิงไม่ถึงกับเยอะมาก (ดร็อกบา 10 ลูก กุ๊ดยอห์นเซ่น 12 ลูก) แต่นักเตะตำแหน่งปีก สามารถทำประตูกันได้เยอะมาก ทุกคนทั้ง โจ โคล ,ดัฟฟ์ และร็อบเบน คือโดดเด่นมาก โดยเฉพาะร็อบเบนที่มีสถิติมาสเตอร์พีซที่สุด ยิงไป 7 แอสซิสต์ไป 9 จบซีซั่น เขามีชื่อติดทีมยอดเยี่ยมของพีเอฟเอตามคาด
สถิติมาสเตอร์พีซที่สุด ยิงไป 7 แอสซิสต์ไป 9 จบซีซั่น เขามีชื่อติดทีมยอดเยี่ยมของพีเอฟเอตามคาด
ขณะที่ทีมโดยรวมก็มีความ "เขี้ยว" มาก ๆ พวกเขาศึกษาคู่แข่งอย่างละเอียด ทำให้คู่แข่งไม่รู้จะเอาวิธีไหนมาชนะ ทั้งฤดูกาล 38 นัด เชลซีแพ้คู่แข่งแค่ 1 เกมเท่านั้น เกือบทำสถิติไร้พ่ายได้ พลาดแค่เกมเดียวจริง ๆ
สุดท้ายจบซีซั่นเชลซี เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ทำแต้มสูงถึง 95 คะแนน ลูกได้เสียสูงสุดในลีก +57 เกมรับอันดับ 1 เกมรุกอันดับ 2 เรียกได้ว่าผลงานนั้นอยู่ในระดับมหัศจรรย์
และมันก็เป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือของโชเซ่ มูรินโญ่ได้อย่างดีที่สุด ว่าทำไมสโมสรต้องไปดึงมาจากเอฟซี ปอร์โต้ เพราะอย่างที่เห็น แค่ปีแรกเท่านั้นเขาก็ไปถึงแชมป์ลีกได้ทันที
คำว่า "แชมป์พรีเมียร์ลีก" นี่เป็นกำแพงที่ไม่เคยมีผู้จัดการทีมคนไหนของเชลซีเคยทำได้ แต่มูรินโญ่ทำได้ ซึ่งจากวันนั้นมา กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของเชลซี ที่ยกระดับกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์ของลีกทุกปีในที่สุด
ในวันแรกที่เปิดตัวเป็นผู้จัดการทีมเชลซี มูรินโญ่ ประกาศว่า "ได้โปรดอย่าหาว่าผมหยิ่งจองหองอะไรเลยนะ แต่ผมเป็นแชมป์ยุโรป และผมคือสเปเชียล วัน"
ได้แชมป์ลีกที่ยากสุด ๆ ทันทีตั้งแต่การทำงานปีแรก ไม่ใช้คำว่า "คนพิเศษ" หรือ "สเปเชียล วัน" ก็ไม่รู้จะมีคำไหนที่เหมาะกว่านี้อีกแล้ว
#Mourinho
*บทความนี้เป็นมุมมองจากเฟซบุ๊กเพจ วิเคราะห์บอลจริงจัง มิใช่มุมมองของสโมสรฟุตบอลเชลซีแต่อย่างใด